วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ลัทธิประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งบริหารอำนาจรัฐมาจากเสียงข้างมากของพลเมือง ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนโดยตรงหรือผ่านผู้แทนที่ตนเลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ ประชาธิปไตยยังเป็นอุดมคติที่ว่าพลเมืองทุกคนในชาติร่วมกันพิจารณากฎหมายและการปฏิบัติของรัฐ และกำหนดให้พลเมืองทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสดงความยินยอมและเจตนาของตน
ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในบางนครรัฐกรีกโบราณช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเอเธนส์หลังการก่อการกำเริบเมื่อ 508 ปีก่อนคริสตกาล ประชาธิปไตยแบบนี้เรียกว่า ประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งพลเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการทางการเมืองโดยตรง แต่ประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน โดยสาธารณะออกเสียงในการเลือกตั้งและเลือกนักการเมืองเป็นผู้แทนตนในรัฐสภา จากนั้น สมาชิกสภาจเป็นผู้ตัดสินใจด้วยเสียงข้างมาก ประชาธิปไตยทางตรงยังมีอยู่ในระดับท้องถิ่นหลายประเทศ เช่น การเลือกตั้งสมาชิกเทศบาล อย่างไรก็ดี ในระดับชาติ ความเป็นประชาธิปไตยทางตรงมีเพียงการลงประชามติ การริเริ่มออกกฎหมายและการถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง
แม้ในปัจจุบัน ประชาธิปไตยจะยังไม่มีนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม แต่ความเสมอภาคและอิสรภาพได้ถูกระบุว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยนับแต่โบราณกาล หลักการดังกล่าวถูกสะท้อนออกมาผ่านความเสมอภาคทางกฎหมายของพลเมืองทุกคน และมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ในประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ทุกเสียงมีน้ำหนักเท่ากันทั้งสิ้น และไม่มีการจำกัดอย่างไร้เหตุผลใช้บังคับกับทุกคนที่ปรารถนาจะเป็นผู้แทน ส่วนอิสรภาพได้มาจากสิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งโดยทั่วไปได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ
ประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในกรีซโบราณ แต่วิธีปฏิบัติแบบประชาธิปไตยปรากฏในสังคมอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งเมโสโปเตเมีย ฟินีเซียและอินเดีย วัฒนธรรมอื่นหลังกรีซได้มีส่วนสำคัญต่อวิวัฒนาการของประชาธิปไตย เช่น โรมันโบราณ ยุโรป[และอเมริกาเหนือและใต้ มโนทัศน์ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนเกิดขึ้นส่วนใหญ่จากแนวคิดและสถาบันซึ่งได้ถูกพัฒนาระหว่างยุคกลางของยุโรปและยุคภูมิธรรมในการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส
ประชาธิปไตยได้ถูกเรียกว่า "ระบอบการปกครองสุดท้าย" และได้แพร่หลายอย่างมากไปทั่วโลก สิทธิในการออกเสียงลงมติในหลายประเทศได้ขยายวงกว้างขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจากกลุ่มค่อนข้างแคบ (เช่น ชายมั่งมีในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ) โดยนิวซีแลนด์เป็นชาติแรกที่ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปแก่พลเมืองทุกคนใน ค.ศ. 1893 ประชาธิปไตยมักถูกเข้าใจสับสนกับระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ในบางนิยาม "สาธารณรัฐ" เป็นประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง แต่นิยามอื่นทำให้ "สาธารณรัฐ" เป็นคำที่มีความหมายต่างหาก ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแม้จะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน การอพยพเข้าเมือง และการกีดกันกลุ่มประชากรบางชาติพันธุ์ เป็นต้น
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตยสากล
ประเภทของประบอบประชาธิปไตย
                1.ประชาธิปไตยโดยทางตรง เป็นรูปแบบการปกครองที่ให้ประชาชนทั้งประเทศ เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองโดยตรง ด้วยการประชุมร่วมกัน พิจารณา ตัดสินปัญหาร่วมกันในที่ประชุมโดยตรง และจะเป็นผู้เลือกตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของรัฐโดยตรง เราจะเห็นว่าประชาธิปไตยประเภทนี้จะใช้ได้ในเชิงปฏิบัติจริงๆ ก็แต่เฉพาะในสังคมเล็กๆ หรือประเทศเล็กๆ ที่มีสมาชิกจำนวนน้อย ซึ่งแต่ละคนมีโอกาสอภิปราย วิพากษ์วิจารณ์ และพิจารณาปัญหาต่างๆ อย่างละเอียดและมีเหตุผล แต่ถ้านำเอาประชาธิปไตยประเภทนี้มาใช้กับสังคมขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนมากแล้วจะเป็นอุปสรรค เนื่องจากความไม่พร้อมเพรียงกัน และการที่จะหาสถานที่ประชุมขนาดใหญ่ เพื่อจะให้ประชาชนทั้งประเทศมาประชุมในที่เดียวกันย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง
                2.ประชาธิปไตยโดยทางอ้อม เป็นประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากประเทศต่างๆ ของโลกได้ขยายตัวออกไปมาก ประชาชนพลเมืองเพิ่มขึ้นปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมามาก ฉะนั้นโอกาสที่ประชาชนทั้งประเทศจะมานั่งปรึกษาหารือกัน เพื่อแก้ปัญหากันแบบประชาธิปไตยโดยทางตรงย่อมเป็นไปไม่ได้ เพื่อแก้ไขอุปสรรคนี้แทนที่ประชาชนทุกคนจะต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาตัดสินปัญหาใด ก็จะให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกตัวแทนหรือที่รู้จักในนาม สมาชิกรัฐสภา เข้าไปสู่ที่ประชุมแทน ส่วนลักษณะและวิธีการเลือกสมาชิกรัฐสภาของประชาชนในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป
ยุคโบราณ 
คำว่า ประชาธิปไตย ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในแนวคิดทางการเมืองและทางปรัชญาช่วงยุคกรีซโบราณ นักปราชญ์เพลโต เปรียบเทียบประชาธิปไตย ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "การปกครองโดยผู้ถูกปกครอง" ว่าเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับระบอบราชาธิปไตย คณาธิปไตยและเศรษฐยาธิปไตย]ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยแบบเอเธนส์จะถือว่าเป็นการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยทางตรง แต่เดิมแล้วประชาธิปไตยแบบเอเธนส์มีลักษณะเด่นอยู่สองประการ คือ ได้มีการคัดเลือกพลเมืองธรรมดาจำนวนมากเข้าสู่ระบบรัฐการและศาล และมีการชุมนุมกันของพลเมืองทุกชนชั้น
พลเมืองทุกคนจะได้รับสิทธิให้อภิปรายและลงมติในสภา ซึ่งเป็นที่ออกกฎหมายของนครรัฐ หากทว่า ความเป็นพลเมืองชาวเอเธนส์นั้นรวมเฉพาะแต่ชายทุกคนซึ่งเกิดจากบิดาที่เป็นพลเมืองเท่านั้น และผู้ที่กำลัง "รับราชการทหาร" ระหว่างอายุ 18-20 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่รวมไปถึงผู้หญิง ทาส คนต่างชาติ (กรีก: μετοίκος, metoikos) และชายผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ จากจำนวนผู้อยู่อาศัยกว่า 250,000 คน มีผู้ได้รับสถานะพลเมืองเพียง 30,000 คน และมีเพียง 5,000 คนเท่านั้นที่มักจะไปปรากฏตัวในสมัชชาประชาชน เจ้าพนักงานและผู้พิพากษาของรัฐบาลจำนวนมากเป็นการกำหนดเลือก มีเพียงเหล่านายพลและเจ้าพนักงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง
เกาะอาร์วัด (ปัจจุบันคือ ประเทศซีเรีย) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อคริสต์สหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยชาวฟินิเซียน ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของระบอบประชาธิปไตยที่พบในโลก ซึ่งที่นั่น ประชาชนจะถืออำนาจอธิปไตยของตน และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะมีความเป็นไปได้ คือ ประชาธิปไตยยุคเริ่มแรกอาจมาจากนครรัฐสุเมเรียนส่วนทางด้านเวสาลี ซึ่งปัจจุบันคือรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในรัฐบาลแรกของโลกที่มีองค์ประกอบที่สามารถพิจารณาได้ว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นแห่งแรกของโลก (แต่ก็มีบางคนที่ออกมาโต้แย้งว่าการปกครองของเวสาลีนั้นไม่เป็นราชาธิปไตยก็จริง แต่น่าจะมีลักษณะเป็นคณาธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตย) และยังปรากฏว่ามีการปกครองที่คล้ายคลึงกับประชาธิปไตยหรือคณาธิปไตยเกิดขึ้นชั่วคราวโดยชาวเมเดส ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล แต่ถึงคราวสิ้นสุดเมื่อมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าดาไรอัสมหาราชแห่งราชวงศ์อาร์เคเมนิด ผู้ทรงประกาศว่า ระบอบราชาธิปไตยที่ดีนั้นย่อมเหนือกว่าระบอบคณาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ
ภาพวาดของสภาซีเนตโรมัน อันเป็นองค์กรทางการเมืองที่สำคัญในสมัยสาธารณรัฐโรมัน

นอกจากนั้น ยังได้มีการกล่าวอ้างถึงสถาบันทางประชาธิปไตยในยุคเริ่มแรก โดยถือว่าเป็น "สาธารณรัฐ" อิสระในประเทศอินเดีย อย่างเช่น พระสงฆ์ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 แต่หลักฐานที่พบนั้นเลื่อนลอยและไม่สามารถหาแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแน่ชัด นอกจากนั้น ไดโอโดรุส ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวกรีกในรัชสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กล่าวถึงรัฐอิสระซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในอินเดีย แต่ทว่าไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสมัยใหม่กล่าวว่า คำว่า ประชาธิปไตย ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลได้ถูกลดความน่าเชื่อถือลง และอาจหมายถึงรัฐอิสระซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองของประชาชนเลยแม้แต่น้อย
ยุคกลาง
ระหว่างช่วงยุคกลาง ได้มีรูปแบบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือสมัชชา ถึงแม้ว่าบ่อยครั้ง จะเปิดโอกาสให้กับประชาชนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น อย่างเช่น เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ในนครรัฐเวนิซ ช่วงอิตาลียุคกลาง รัฐในไทรอลเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ รวมไปถึงนครพ่อค้าอิสระซะไก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในญี่ปุ่น เนื่องจากการปกครองรูปแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นประชาชนมีส่วนร่วมเพียงส่วนน้อยเท่านั้น จึงมักจะถูกจัดว่าเป็นคณาธิปไตยมากกว่า และดินแดนยุโรปในสมัยนั้นยังคงปกครองภายใต้นักบวชและขุนนางในยุคศักดินาเป็นส่วนมาก
รูปแบบการปกครองซึ่งมีความใกล้เคียงกับลักษณะระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ยิ่งขึ้นไปอีก คือ ระบบของกลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คในยูเครนระหว่างคริสต์ศัตวรรษที่ 16-17: คอสแซ็คเฮ็ตมันนาเตและซาโปริเซียน ซิค โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากตำบลต่าง ๆ ของเคานตีเลือกตำแหน่งสูงสุด ซึ่งเรียกว่า "เฮ็ตมัน" (Hetman) แต่ด้วยความที่กลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คเป็นรัฐทางการทหารอย่างเต็มตัว สิทธิของผู้ร่วมในการเลือก "เฮ็ตมัน" จึงมักจะจำกัดอยู่แต่เพียงผู้ที่รับราชการในกองทหารคอสแซ็คเท่านั้น และต่อมาก็ยิ่งจำกัดเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นแต่เฉพาะนายทหารระดับสูง
มหากฎบัตรของอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1215
ส่วนทางด้านรัฐสภาแห่งอังกฤษ มีรากฐานของการจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์มาจากมหากฎบัตร ซึ่งสมาชิกรัฐสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ได้แก่ รัฐสภาของเดอ มงต์ฟอร์ต ในปี ค.ศ. 1265 แต่อันที่จริงแล้ว มีเพียงประชาชนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยรัฐสภาได้รับการคัดเลือกจากประชาชนคิดเป็นน้อยกว่า 3% ในปี ค.ศ. 1780และยังได้เกิดปัญหากับรูปแบบการปกครองดังกล่าว ที่เรียกว่า "เขตเลือกตั้งเน่า" (rotten boroughs) โดยอำนาจในการจัดตั้งรัฐสภานั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของกษัตริย์ หลังจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ในปี ค.ศ. 1688 และการบังคับใช้พระราชบัญญัติสิทธิ ในปี ค.ศ. 1689 ซึ่งได้มีการประมวลหลักสิทธิและเพิ่มพูนอิทธิพลของรัฐสภาหลังจากนั้นสิทธิในการเลือกสมาชิกรัฐสภาก็เพิ่มมากขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งกษัตริย์ทรงเป็นเพียงประมุขแต่ในนามเท่านั้น
รูปแบบประชาธิปไตยยังได้ปรากฏในการปกครองระบบชนเผ่า อย่างเช่น สหพันธ์ไอโรโควอิส (Iroquois Confederacy) อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นสมาชิกเพศชายของชนเผ่าเท่านั้นจึงจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำได้ และบางคนยังถูกยกเว้นอีกด้วย มีเพียงสตรีที่อาวุโสที่สุดในชนเผ่าเดียวกันเท่านั้นที่สามารถเลือกและถอดถอนหัวหน้าชนเผ่าได้ ซึ่งเป็นการกีดกันประชากรจำนวนมาก รายละเอียดที่น่าสนใจได้กล่าวว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งนั้นใช้ความคิดเห็นอันเป็นเอกฉันท์ของเหล่าผู้นำ มิใช่การสนับสนุนของเสียงส่วนใหญ่จากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกชนเผ่า
ในสังคมระดับกลุ่ม อย่างเช่น บุชแมน ซึ่งมักจะประกอบด้วยคนจำนวน 20-50 คนในแต่ละกลุ่ม ไม่ค่อยจะมีหัวหน้าเท่าใดหนักและทำการตัดสินใจต่าง ๆ โดยอาศัยความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่มากกว่า ในเมลานีเซีย แต่เดิมประชาคมหมู่บ้านกสิกรรมมีความเท่าเทียมกัน และมีการปกครองแบบเอกาธิปไตยที่แข็งกร้าวจำนวนน้อย ถึงแม้ว่าอาจมีคนใดคนหนึ่งที่มีอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งอิทธิพลดังกล่าวมีผลต่อการแสดงทักษะความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง และความประสงค์ของประชาคม ทุกคนถูกคาดหวังที่จะแบ่งปันหน้าที่ในประชาคม และให้สิทธิร่วมการตัดสินใจของประชาคม อย่างไรก็ตาม แรงกดดันอย่างหนักของสังคมกระตุ้นให้เกิดความลงรอยกันและลดการตัดสินใจเพียงลำพัง
ระบบรัฐสภา
ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ซึ่งรัฐบาลได้รับแต่งตั้งจากผู้แทน ขัดกับ "การปกครองแบบประธานาธิบดี" อันมีประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกตังเข้ามา เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาล ภายใต้ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา รัฐบาลบริหารประเทศโดยมอบหน้าที่ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหาร ตลอดจนถูกวิจารณ์ ตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างต่อเนื่องโดยสภานิติบัญญัติซึ่งได้รับเลือกจากประชาชน ระบบรัฐสภามีสิทธิถอดถอนนายรัฐมนตรีได้เมื่อถึงเวลาที่สภาเห็นว่าผู้นั้นทำหน้าที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของฝ่ายนิติบัญญัติ การถอดถอนนี้เรียกว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติตัดสินใจว่าจะถอดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งหรือไม่โดยการสนับสนุนเสียงข้างมากต่อการถอดถอนผู้นั้นในบางประเทศ นายกรัฐมนตรียังสามารถยุบสภาและเรียกการเลือกตั้งใหม่ได้เมื่อใดก็ตามที่ผู้นั้นเลือก และตามแบบนายกรัฐมนตรีจะจัดการเลือกตั้งเมื่อผู้นั้นทราบดีว่าตนได้รับการสนับสนุนดีจากสาธารณะที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามา ในประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอื่น แทบไม่เคยจัดการเลือกตั้งพิเศษ แต่นิยมรัฐบาลเสียงข้างน้อยกะทั่งการเลือกตั้งปกติครั้งถัดไป
ระบบรัฐสภามีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขรัฐบาลและประมุขฝ่ายบริหาร จะมีพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีเป็นประมุขก็ได้ แต่ไม่มีอำนาจบริหาร
ระบบประธานาธิบดี
ระบบประธานาธิบดีเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนระบบหนึ่งซึ่งสาธารณะเลือกตั้งประธานาธิบดีผ่านการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาล โดยควบคุมอำนาจบริหารส่วนใหญ่ ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งแน่นอนและไม่อาจดำรงตำแหน่งเกินกำหนดเวลาได้ เพราะได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ประธานาธิบดีจึงสามารถกล่าวได้ว่า เขาเป็นทางเลือกของประชาชนและเพื่อประชาชนการเลือกตั้งตามแบบมีกำหนดวันที่ชัดเจนและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย การเป็นประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาลร่วมกันทำให้ประธานาธิบดีไม่เพียงแต่เป็นหน้าเป็นตาของประชาชน แต่ยังเป็นหัวหน้านโยบายด้วย ประธานาธิบดีควบคุมคณะรัฐมนตรีโดยตรง สมาชิกคณะรัฐมนตรีนั้นได้รับการแต่งตั้งอย่างเจาะจงจากประธานาธิบดีด้วยตนเอง ประธานาธิบดีไม่อาจถูกถอดออกจากตำแหน่งได้โดยง่ายจากฝ่ายนิติบัญญัติ แม้ประธานาธิบดีจะถืออำนาจบริหารส่วนมากไว้ แต่เขาก็ไม่สามารถถอดสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติได้โดยง่ายเช่นกัน ระบบนี้จึงเพิ่มการแบ่งแยกอำนาจ ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างประธานาธิบดีและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากต่างพรรคการเมือง ซึ่งเปิดให้ฝ่ายหนึ่งขัดขวางอีกฝ่ายได้ ด้วยเหตุนี้ ประชาธิปไตยประเภทจึงนี้ไม่พบแพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบัน แต่ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกา ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาถึงทวีปอเมริกาใต้ ใช้ระบบนี้
ระบบนี้ไม่มีนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารไม่สามารถยุบสภา ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ระบบกึ่งประธานาธิบดี
ระบบกึ่งประธานาธิบดีเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนซึ่งรัฐบาลมีทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี ประชาธิปไตยแบบนี้ยิ่งพบน้อยกว่าระบบประธานาธิบดีเสียอีก ระบบนี้มีทั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่มีกำหนดวาระ และประธานาธิบดีซึ่งมีกำหนดวาระ ขึ้นอยู่กับประเทศ การแบ่งแยกอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีนั้นแตต่างกันไป ในรณีหนึ่ง ประธานาธิบดีถืออำนาจมากกวานายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและประธานาธิบดี ส่วนอีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรีสามารถถืออำนาจมากกว่าประธานาธิบดี ประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีแบ่งอำนาจกัน ขณะที่ประธานาธิบดีถืออำนาจแยกจากฝ่ายนิติบัญญัติประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วยตนเอง ควบคุมนโยบายการทางประเทศ และเป็นประมุขแห่งรัฐ ("หน้าตาของประชาชน") นายกรัฐมนตรีถูกคาดหวังว่า วางนโยบายของพรรคซึ่งชนะการเลือกตั้งสู่ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลประเภทนี้ยังสร้างปัญหาว่าใครถือความรับผิดชอบใด
ทฤษฎีเพลโตและอริสโตเติล
ภาพวาดเพลโตและอริสโตเติล สองปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ยุคกรีกโบราณ
สำหรับทั้งเพลโตและอริสโตเติลแล้ว นักปราชญ์ทั้งสองนี้ไม่เห็นด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพลโตได้แสดงความเห็นถึงผู้นำของรัฐในอุดมคติในหนังสืออุตมรัฐ ว่า "ผู้นำของรัฐ ควรจะเป็นผู้นำกลุ่มน้อยที่ทรงภูมิความรู้และเปี่ยมด้วยคุณธรรม อุทิศตนเองให้กับรัฐ เมื่อรัฐมีผู้นำที่มีคุณภาพเช่นนี้ รัฐนั้นก็เจริญก้าวหน้า มีระบบการบริหารที่ดี ประชาชนจะมีชีวิตที่เป็นสุข" โดยเขาเห็นว่านักปราชญ์และนักปกครองเป็นผู้นำที่ดี โดยถือว่าการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เนื่องจากเพลโตขมขื่นจากการตัดสินของกลุ่มคนที่ให้ประหารโสเครติส
ส่วนทางด้านอริสโตเติลได้เปรียบเทียบแบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็นสามรูปแบบ ได้แก่ การปกครองโดยบุคคลเพียงคนเดียว (สมบูรณาญาสิทธิราช/ทรราช) การปกครองโดยคณะบุคคลส่วนน้อย (อภิชนาธิปไตย/คณาธิปไตย) และการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ (โพลิตี/ประชาธิปไตย) ซึ่งรูปแบบที่กล่าวมานั้น อริสโตเติลได้จัดแบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็นรูปแบบที่ดีและเลวตามลำดับ และเขาได้พิจารณาว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ไม่ดีเมื่อเทียบกับการปกครองโดยชนชั้นกลาง
เขาเชื่อว่ารากฐานของระบอบประชาธิปไตยนั้นมาจากเสรีภาพ ซึ่งมีเพียงการปกครองแบบดังกล่าวเท่านั้นที่พลเมืองสามารถแบ่งปันเสรีภาพร่วมกันได้ ซึ่งเขาก็ได้โต้แย้งว่านี่เป็นวัตถุประสงค์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยทิศทางหลักของเสรีภาพ ประกอบด้วย ภาวะผู้นำและภาวะผู้ตามที่ดี เนื่องจากทุกคนมีความเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเหลื่อมล้ำทางฐานะ ความสามารถ ชาติกำเนิด และสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้
"เดี๋ยวนี้หลักการมูลฐานพื้ฐานของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย คือ เสรีภาพ นั่นคือ สิ่งที่ถูกยืนยันตามปกติ โดยบอกเป็นนัยว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้นที่มนุษย์จะเป็นส่วนในเสรีภาพ เพราะพวกเขายืนยันเสรีภาพนี้ว่าเป็นเป้าหมายของทุกประชาธิปไตย แต่ปัจจัยหนึ่งของเสรีภาพ คือ การปกครองและการถูกปกครองในขณะเดียวกัน เพราะหลักความยุติธรรมที่ได้รับความนิยมคือ ความเท่าเทียมกันตามจำนวน มิใช่ความมั่งมี และหากนี่เป็นหลักความยุติธรรมที่แพร่หลาย มหาชนจำต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและการตัดสินใจของเสียงข้างมากนันต้องเป็นที่สุดและต้องกอปรด้วยความยุตธรรม เพราะพวกเขาว่า พลเมืองแต่ละคนควรมีส่วนแบ่งเท่าเทียมกัน เพื่อที่มันจะส่งลให้ในประชาธิปไตย คนจนทรงอำนาจกว่าคนรวย เพราะมีคนจนมากว่าและอะไรก็ตามที่เสียงข้างมากตัดสินนั้นต้องอยู่สูงสุด จากนั้น นี่เป็นเครื่องหมายหนึ่งของเสรีภาพซึ่งนักประชาธิปไตยตัดสินว่าเป็นหลักของัฐธรรมนูญ หนึ่ง คือ ความเป็นอิสระของมนุษย์ที่จะดำเนินชีวิตตามใจชอบ เพราะเขาว่าเป็นการทำหน้าที่ของเสรีภาพ เพราะการดำเนินชีวิตอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งไม่ชอบนั้นเป็นชีวิตของชายที่ตกเป็นทาส นี่เป็นหลักประชาธิปไตยข้อสอง และจากข้อนี้ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าจะต้องไม่ถูกปกครองโดยบุคคลใด ๆ ก็ตาม หรือการปกครองและถูกปกครองในเวลาเดียวกันนั้นไม่เป็นผล และนี่จะเป็นวิถีที่หลักข้อสองสนับสนุนเสรีภาพสมภาค"
ปัจจัยที่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย
ระบอบประชาธิปไตยไม่อาจดำรงอยู่ไดด้วยตัวของมันเอง จึงจำเป็นต้องมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะเป็นตัวคอยให้การสนับสนุนหรือช่วยให้ระบอบนี้ดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ
                1.ระดับการศึกษาของประชาชน เป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย คือ ในเมื่อคนในสังคมได้รับการศึกษาดี มีเหตุผล มักจะติดตามข่าวสารทางการเมือง มีความสนใจทางการเมืองและมีความรู้ความเข้าใจว่าตนเองเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม นโยบายใดๆที่สังคมออกมาก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อเขาโดยตรง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาดีมักจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
                2.การพัฒนาเศรษฐกิจ จะพบว่าประเทศพัฒนานั้นจะมีระดับของความเสมอภาคทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศด้วยพัฒนาทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นผลให้สังคมมีสวัสดิการต่างๆที่ดี เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ นอกจากเศรษฐกิจที่ดีมั่นคงจะช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยความสมัครใจ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการถูก ชักจูง ขู่เข็ญใดๆ และยังมีผลให้ระบอบประชาธิปไตย ดำเนินไปด้วยดี และมีเสถียรภาพด้วย
                3.บุคลิกภาพแบบประชาธิปไตย เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยยั่งยืนอยู่ได้ ลักษณะของบุคลิกภาพเหล่านี้คือความสนใจที่จะมีต่อกิจการบ้านเมือง เมื่อสนใจแล้วก็มีความกระตือรือร้นที่จะติดตามความเป็นไป มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล ไร้อคติ และที่สำคัญได้แก่ การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยถือเสมือนว่าเป็นหน้าที่ที่ตนจะต้องทำ หรือที่ตนจะต้องรับผิดชอบในฐานะสมาชิกผู้หนึ่งของสังคม
                4.เสถียรภาพของสถาบันทางการเมือง มีส่วนช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้ามั่นคงด้วย นั่นคือ เมื่อสถาบันหรือองค์กรทางการเมืองเป็นที่ยอมรับของประชาชน ประชาชนก็จะมีความศรัทธา และจะเข้าไปเป็นสมาชิก หรือเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น เมื่อพรรคการเมืองมั่นคงสามารถแสดงออกซึ่งเจตนาของสมาชิกได้อย่างแจ่มชัด นโยบายที่ออกมาก็ได้รับการเชื่อถือและนำมาปฏิบัติ ประชาชนจะมีความศรัทธาพรรคการเมืองนั้น และเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเกื้อกูลให้ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพยิ่งขึ้นด้วย
                5.พัฒนาการทางการปกครองและการบริหาร ปัจจัยหนึ่งที่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองและการบริหารต้องมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน นโยบายของรัฐบาลตรงตามเจตนารมณ์และมีผลดีต่อประชาชน คือ ประชาชนได้มีโอกาส ได้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจศรัทธาและยึดมั่นการเมืองระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น เจ้าของมีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้นไปด้วย
คุณค่าของประชาธิปไตย
                1.คุณค่าต่อบุคคล ระบอบนี้ให้คุณค่าแก่บุคคล โดยมองว่าบุคคลมีเสรีภาพและเท่าเทียมในศักดิ์ศรีและความเป็นคน การที่คนจะมีเสรีภาพได้อย่างแท้จริง หมายความว่า คนจะต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้อื่น เพราะประชาธิปไตยเป็นรูปแบบของการปกครองที่ยึดถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และประชาชนเป็นผู้ปกครองเอง การที่ประชาชนจะปกครองตนเองได้จะต้องมีเสรีภาพอย่างแท้จริงประชาธิปไตยยอมรับในคุณค่าของบุคคล โดยให้เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพในการพูด เขียนและวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เสรีภาพในทางการเมือง ได้แก่ เสรีภาพในการเลือกผู้แทนเพื่อที่จะะไปทำหน้าที่หรือแสดงเจตนารมณ์แทนปวงชน และมีความเท่าเทียมกัน คือ ประชาชนแต่ละคนต่างมีคะแนนเสียง 1 เสียงไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือยาจก ส่วนเสรีภาพในการพูด เช่น วิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นสิ่งควบคู่กับเสรีภาพทางการเมือง คือ ถ้ารัฐบาลให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกตั้ง แต่ไม่ให้ประชาชนพูด เขียนหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยเสรีแล้ว ประชาชนก็จะไม่มีโอกาสได้แสดงออกให้รัฐบาลหรือรัฐสภาได้ทราบความต้องการของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาธิปไตยจะไร้ความหมาย เสรีภาพในการพูด การเขียนและการวิพากษ์วิจารณ์นี้หมายรวมถึง การที่รัฐเปิดช่องทางให้ประชาชนได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นในด้านต่างๆต่อนโยบาย ตลอดจนการดำเนินงานของรัฐอีกด้วย เป็นตัวควบคุมหรือตัวกระตุ้นอย่างหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินงานได้ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมจริงๆ มากกว่าที่จะการะทำเพื่อผลประโยชน์คนบางคนบางกลุ่ม
                2.คุณค่าต่อสังคม สังคมประชาธิปไตยนั้นเป็นสังคมที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ประชาชนเป็นผู้มีเหตุผล รู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความเต็มใจที่จะประนีประนอมผ่อนปรนให้กันและกัน มีน้ำเป็นนักกีฬา และพร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ สังคมที่ประกอบไปด้วยบุคคลที่มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย จึงได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่มีคุณค่า เป็นสังคมที่มีน่าอยู่อาศัย
ข้อดีของประชาธิปไตย
                1.ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพและเสมอภาค ประชาชนทุกคนมีสิทธิแห่งความเป็นคนเหมือนกันไม่ว่ายากดีมีจน เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน ทุกคนมีเสรีภาพในการกระทำใดๆ ได้หากเสรีภาพนั้นไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพูด การเขียน การวิพากษ์วิจารณ์ และทุกคนมีความเสมอภาค หรือเท่าเทียมกันที่จะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย มีความเสมอภาคในการประกอบอาชีพ เป็นต้น
                2.ประชาชนปกครองตนเอง ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนไปใช้อำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมายมาใช้ปกครองตนเอง และเป็นรัฐบาลเพื่อใช้อำนาจบริหาร ซึ่งสามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนส่วนรวมได้ดี เพราะผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของปวงชนย่อมรู้ความต้องการของประชาชนได้ดี
                3.ประเทศมีความเจริญมั่นคง การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองทำให้ประชาชนมีความพร้อมเพรียงในการปฏิบัติตามกฎ และระเบียบที่ตนกำหนดขึ้นมายอมรับในคณะผู้บริหารที่ตนเลือกขึ้นมาและประชาชนไม่มีความรู้ต่อต้าน ทำให้ประเทศมีความสงบสุขเจริญก้าวหน้าและมั่นคง
ข้อเสียของประชาธิปไตย
                 1.ดำเนินการยาก ระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองที่ดี แต่การที่จัดสรรผลประโยชน์ตรงกับความต้องการประชาชนทุกคนย่อมทำไม่ได้ นอกจากนั้นยังเป็นการยากที่จะให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามสิทธิ เสรีภาพทุกประการ ทั้งนี้เพราะวิสัยของมนุษย์ย่อมมีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคมจึงมีการกระทบกระทั่งและละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นได้
                2.เสียค่าใช้จ่ายสูง การปกครองระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทน เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่แทนตน การเลือกตั้งในแต่ละระดับต่างต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทั่งงบประมาณดำเนินงานชองทางราชการและค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
                3.มีความล่าช้าในการตัดสินใจ การตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ โดยผ่านขั้นตอนการอภิปราย แสดงเหตุผลและมติที่มีเหตุผลเป็นที่ยอมรับของสมาชิกส่วนใหญ่ จึงต้องดำเนินตามขั้นตอนทำให้เกิดความล่าช้า เช่น การตรากฎหมาย ต้องดำเนินการตามลำดับขั้นตอนของวาระ อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์เป็นเดือน หรือบางฉบับต้องใช้เวลาเป็นปี จึงจะตราออกมาเป็นกฎหมายได้
อ้างอิง 



วิชา ประวัติศาสตร์สากล
จัดทำโดย
นางสาว จณิสตา อุดมทรัพย์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6.8 เลขที่ 37
เสนอ
คุณครูเตือนใจ  ไชยศิลป์
โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย